หมวดทั่วไป
=> ข่าวสารและสาระที่น่าสนใจ => ข้อความที่เริ่มโดย: Jomjam Jam ที่ 09 เมษายน 2559, เวลา 14:06:55 น.

หัวข้อ: การดูแลตนเองเพื่อป้องกันฮีทสโตรก (Heat Stroke) เมื่อท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน
เริ่มหัวข้อโดย: Jomjam Jam ที่ 09 เมษายน 2559, เวลา 14:06:55 น.
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันฮีทสโตรก (Heat Stroke) เมื่อท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

    ขอต้อนรับ "ฤดูร้อน" อย่างเป็นทางการค่ะ...เริ่มต้นฤดูร้อนปุ๊บ อากาศก็ร้อนขึ้นโดยทันทีทันใด...ในเดือนเมษายนนับว่าเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุด และสังเกตว่าอุณหภูมิในแต่ละปีจะสูงขึ้นเรื่อยๆ...ซึ่งความเจ็บป่วยหลายชนิดก็มาพร้อมกับอากาศที่ร้อนขึ้นด้วย 

[attach=1]


     นับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ สาเหตุหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากข้อมูลในระดับโลกพบว่าสถานการณ์ความร้อนมีความรุนแรงขึ้นและส่งผลให้เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยการเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อนเพิ่มขึ้นในแต่ละปีและมีแนวโน้มว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอนาคต

     สำหรับประเทศไทย อุณหภูมิในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่าอุณหภูมิในแต่ละภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมถึงในช่วง 10 ปี  ยังพบว่าจำนวนวันที่หนาวลดลง จำนวนวันที่ร้อนหรืออบอุ่นเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้น และอาจเป็นปัญหาสำคัญในอนาคตหากไม่ดำเนินการใดๆ และที่สำคัญจากรายงานสถานการณ์สุขภาพพบว่าอัตราป่วยด้วยโรคจากความร้อนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2553-2556 อัตราป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.76 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ.2553 เป็น 4.24 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ.2556 ซึ่งอัตราป่วยจะสูงสุดในเดือนเมษายนและพฤศจิกายนเกือบทุกปี โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับฤดูร้อนของประเทศ นอกจากนี้ ยังพบรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากโรคลมแดดในปี พ.ศ.2555 อีกด้วย....จากข้อมูลดังกล่าวแม้ว่าข้อมูลการเจ็บป่วยและสถานการณ์ผลกระทบจากความร้อนของประเทศไทยอาจยังไม่รุนแรง แต่มีแนวโน้มของอุณหภูมิและจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หากยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาใดๆ ประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้น 6,000 ราย และ 14,000 ราย ในปี พ.ศ.2593 และ 2623 ตามลำดับ
(แหล่งข้อมูล:http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50.pdf (http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50.pdf))


[attach=2]
ขอบคุณภาพจาก: https://dancesafe.org/heatstroke/ (https://dancesafe.org/heatstroke/)


     จะเห็นได้ว่าปัญหาความเจ็บป่วยที่มากับอากาศที่ร้อนจัดขึ้นทุกปีเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังและให้ความสำคัญกันเพิ่มขึ้น ซึ่งความเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับอากาศร้อนที่สำคัญและกำลังเป็นที่พูดถึงกันในหน้าร้อนนี้คือ "โรคฮีทสโตรก" (Heat Stroke)...ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตหากเราไม่รู้จักวิธีการป้องกันและดูแลตัวเองเบื้องต้น...เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่านะคะ

     "โรคฮีทสโตรก" (Heat Stroke) หรือ "โรคลมแดด" รวมถึงโรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) และผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) กลุ่มโรคเหล่านี้เกิดจากการได้รับความร้อนมากจนเกินไป เป็นภาวะวิกฤติของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิแกนกลางเกิน 40 องศาเซลเซียส และการขับเหงื่อไม่เพียงพอหรือหยุดทำงาน ร่วมกับภาวะขาดน้ำรุนแรง สาเหตุเกิดจากเมื่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกายสูงขึ้น เลือดจะไหลไปที่ผิวหนังมากขึ้น เพื่อระบายความร้อน ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในที่สำคัญลดลง และเมื่อร่างกายควบคุมอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายไม่ได้ จะทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิสูง (Hyperthermia) และระบบประสาทส่วนกลางจะเริ่มสูญเสียหน้าที่ไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการสับสนหมดสติและเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

 
      กลุ่มเสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรก ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในสถานที่กลางแจ้งและสัมผัสกับอากาศร้อนโดยตรงเป็นเวลานาน เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีโรคประจําตัว และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องรับประทานยาควบคุมความดันโลหิต เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับเกลือโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากมีไขมันที่ผิวหนังมาก ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฉนวนกันความร้อน ทำให้คนอ้วนสามารถเก็บความร้อนได้ดี ขณะที่การระบายความร้อนออกทำได้น้อยกว่าคนทั่วๆ ไป บริเวณผิวหนังที่มีไขมันมากมักมีต่อมเหงื่อน้อยลงด้วย คนอ้วนจึงมีโอกาสเกิดปัญหานี้ได้ง่าย ส่วนผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ ร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย


    สัญญาณสําคัญของโรคฮีทสโตรก คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย ผู้ที่เป็นฮีทสโตรกจะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว และอาจรุนแรงถึงขั้นเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับและไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทําให้ช็อกหมดสติและถึงขั้นเสียชีวิตได้

[attach=5]
ขอบคุณภาพจาก: http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50.pdf (http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50.pdf)


[attach=3]
ขอบคุณภาพจาก: http://www.firstaidforfree.com/first-aid-for-heat-exhaustion-and-heat-stroke/ (http://www.firstaidforfree.com/first-aid-for-heat-exhaustion-and-heat-stroke/)


     การป้องกันเบื้องต้น ได้แก่
      1. พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร ค่อยๆ ดื่มเป็นระยะๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม หรือแม้ว่าทํางานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6–8 แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
    2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง สีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
    3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
    4. งดเล่นกีฬาหรือการออกกําลังกายที่เสียเหงื่อมากๆ ในช่วงอากาศร้อนจัด
    5. สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการแช่น้ำอุ่น น้ำแร่ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในร่างกายนั้น ควรศึกษาวิธีที่ถูกต้องก่อนลงแช่น้ำ คือต้องอาบน้ำทําความสะอาดร่างกาย 20 นาทีและจุ่มมือทดสอบความร้อนของน้ำ จากนั้นค่อยๆ หย่อนตัวลงแช่ในน้ำร้อนอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับน้ำร้อน และไม่ควรแช่อยู่ในน้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน
    6. กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรกตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ โดยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรทํากิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป หากต้องเดินทางไกล ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืดเป็นลมเมื่อเจออากาศที่ร้อนจัด และไม่ควรทิ้งเด็กหรือผู้สูงอายุให้อยู่ในรถที่ปิดสนิท และจอดกลางแจ้งตามลําพังเป็นเวลานาน



   หากพบผู้ที่มีอาการของโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก สามารถดูแลเบื้องต้นด้วยการนําเข้าไปพักในที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้เชิงกราน ศีรษะ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน และจากนั้นรีบนําส่งสถานพยาบาลที่ใกล้โดยเร็วที่สุด



[attach=4]
ขอบคุณภาพจาก: http://hilight.kapook.com/view/22320 (http://hilight.kapook.com/view/22320)



ขอบคุณแหล่งข้อมูล
http://hhdc.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=1015 (http://hhdc.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=1015)
http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=2850 (http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=2850)
http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50.pdf (http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50.pdf)
http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/189 (http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/189)



ถ่ายภาพและเรียบเรียง โดย Jomjam ทีมงาน soupvan cnx.



*****หากท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ระมัดระวังและดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอันตรายจาก Heat Stroke ในวันที่อากาศร้อนจัดกันด้วยนะคะ*****
หัวข้อ: Re: ท่องเที่ยวในฤดูร้อน ระมัดระวังฮีทสโตรก (Heat Stroke) โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน
เริ่มหัวข้อโดย: บุคคลทั่วไป ที่ 19 กรกฎาคม 2559, เวลา 13:45:00 น.
อ้างถึง
([url]http://www.soupvanclub.com/index.php?action=dlattach;topic=723.0;attach=1379;image[/url])


เชื่อละ แค่เห็นรูปก็ร้อนแล้ว