หมวดทั่วไป
=> ข่าวสารและสาระที่น่าสนใจ => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 22 เมษายน 2564, เวลา 22:19:05 น.

หัวข้อ: โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 22 เมษายน 2564, เวลา 22:19:05 น.
โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ (https://health.kapook.com/view240313.html)

ติดโควิดแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร จะหายเองได้ไหม ถ้าหายแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่ มาทำความเข้าใจกัน

           สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19  (https://covid-19.kapook.com/) ยังคงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้คนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่าผู้ป่วยเกินครึ่งสามารถรักษาหายได้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ถ้าติดโควิดแล้วจะหายเองได้หรือไม่ เหมือนกับไข้หวัดทั่วไปที่เมื่อได้กินยาและนอนหลับพักผ่อนหน่อยอาการก็ดีขึ้น รวมถึงจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อหายดีแล้ว มาคลายความสงสัยกันค่ะ


          โควิดหายเองได้ไหม

(https://s359.kapook.com/pagebuilder/054ec8ee-3925-47fc-9909-ca949a1e6315.jpg)

           โรคโควิด 19 เป็นโรคที่ควบคุมยาก เพราะเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ และอาการป่วยส่วนใหญ่ของโรคนี้ไม่แสดงออกรุนแรง หรือหนักจนถึงขนาดทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้ออยู่ ส่งผลให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ไปเรื่อยๆ แม้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดได้ และประเทศไทยก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่อัตราผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ดี

           อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบว่า ถ้าโลกนี้มีผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 100 คน จะมีผู้ป่วย 80 คนที่มีอาการน้อยและหายเองได้ นั่นหมายถึง 80% ของผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ไอ จาม ปวดหัว คล้ายกับการเป็นไข้หวัดธรรมดา หากภูมิคุ้มกันดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เมื่อได้นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ กินยารักษาตามอาการเหมือนกับไข้หวัด ก็จะสามารถหายจากโรคนี้เองได้

           ส่วนอีก 20% ที่เหลือเป็นกลุ่มที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะปอดอักเสบ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งต้องให้ยารักษาโดยเฉพาะ และในจำนวน 20% นี้ จะมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีอาการหนัก อาจต้องเข้า ICU อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ โรคไต หรือมะเร็ง ที่มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนปกติทั่วไป


          ป่วยโควิดจำเป็นต้องอยู่ใน รพ. ไหม

          สำหรับผู้ป่วยเชื้อโควิด 19 ทั้งที่มีอาการ ไม่มีอาการ หรือแม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ควรรีบพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ไม่แนะนำให้กักตัวเองเพื่อรักษาอาการที่บ้านเหมือนต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 21 เมษายน 2564 ระบุว่า ยังมีสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่สถานพยาบาลด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ

          1.  ผู้ป่วยบางราย ตรวจพบเชื้อโควิดโดยไม่แสดงอาการ เมื่อรักษาตัวไปสักระยะ กลับพบเชื้อลงไปที่ปอดทำให้เกิดอาการปอดบวม ในบางคนอาจลุกลามรุนแรงจนทรุดหนัก เพราะเชื้อกระจายตัวอย่างรวดเร็ว จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดจะดีที่สุด เพื่อเฝ้าดูอาการผิดปกติที่ปอด ด้วยการเอกซเรย์ปอดว่ามีรอยหรือฝ้าขาวในปอดหรือไม่

          2.  ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักจะแพร่เชื้อออกมาทางระบบการหายใจ เช่น ไอ จาม หรือแม้กระทั่งการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้อื่น จึงมีความเสี่ยงสูงที่คนรอบข้างจะติดเชื้อตามไปด้วยได้ ดังนั้น การเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลจะช่วยควบคุม และป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปมากกว่าเดิม


          โควิดหายได้ภายในกี่วัน [/color]

(https://s359.kapook.com/pagebuilder/943dd2fa-78ce-4efc-9efb-c205847e1e3a.jpg)

           อาการของผู้ป่วยโควิด 19 สามารถแบ่งเป็นอาการเล็กน้อย และอาการหนัก โดยทั้ง 2 อาการจะมีระยะเวลาในการรักษาตัวที่แตกต่างกัน ดังนี้

          -  ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการป่วยเลย จะใช้เวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน เพื่อดูอาการและควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย มีการให้ยารักษาตามอาการ เช่น ปวดหัวก็ให้ยาแก้ปวด นอนพัก ดื่มน้ำเยอะๆ กินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายแข็งแรงดีและครบ 14 วันแล้ว ก็จะตรวจเช็กอีกครั้งว่ายังมีอาการอยู่หรือไม่ ถ้ามีน้อยหรือไม่มีอาการแล้วก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ แต่หากยังมีอาการให้อยู่ในโรงพยาบาลต่อ จนไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24 ถึง 48 ชั่วโมง จึงสามารถออกจากโรงพยาบาลได้

          -  ผู้ป่วยที่อาการหนัก เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หรือมีอาการปอดอักเสบหลังจากการติดเชื้อ จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น เช่น กรณีต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอาจต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า 2 เดือน


          วิธีดูแลตัวเองเมื่อติดโควิด

           เมื่อตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด 19 แน่ๆ ให้รีบแจ้งกับทางโรงพยาบาลที่ไปตรวจหรือโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ในกรณีที่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน เพราะอยู่ระหว่างการรอเตียงจากสถานพยาบาลต่างๆ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
           -  งดออกจากบ้าน หรือที่อยู่อาศัย
           -  สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่พูดคุย หรือใกล้ชิดกับผู้อื่น
           -  ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงเช็ดทำความสะอาดพื้นที่ หรือสิ่งของที่ต้องใช้งานร่วมกับผู้อื่นเป็นประจำ
           -  แยกข้าวของเครื่องใช้ ไม่ใช้ปะปนกับผู้อื่น และหมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้ออยู่เสมอ
           -  แยกห้องน้ำ และหมั่นทำความสะอาดสุขภัณฑ์เพื่อฆ่าเชื้อ
           -  อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อุดอู้
           -  คัดแยกขยะของตัวเอง เก็บทิ้งไม่ให้ปะปนกับของผู้อื่น และมัดปากถุงให้แน่นสนิททุกครั้ง
           -  ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารปรุงสุกที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียด
           -  หมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ โดยวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้ ให้กินยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการ หรือหากมีอาการทรุดหนัก เช่น ไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย ควรรีบติดต่อแพทย์หรือสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยทันที
 
          สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว ก็มีวิธีการปฏิบัติตัวดังนี้
           -  ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวที่เตรียมมาเอง เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว และเสื้อผ้า ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
           -  หมั่นวัดอุณหภูมิ และความดันอยู่เสมอ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ไข้สูง ไอมากขึ้น ความดันสูงกว่าปกติ เหนื่อยง่าย ให้รีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทันที
           -  รักษาความสะอาดส่วนตัว เช่น อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน รวมถึงรักษาความสะอาดบริเวณที่พักด้วย
           -  งดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด
           -  ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อพักฟื้นร่างกาย
           -  ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


          รักษาโควิดหายแล้ว สามารถแพร่เชื้อได้อีกไหม

(https://s359.kapook.com/pagebuilder/40792e54-88ce-4d46-b336-2c9b53d5aad7.jpg)

           ผู้ป่วยคนใดก็ตามที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ นั่นหมายถึง ผู้ป่วยคนนั้นหายดีแล้ว ไม่มีอาการป่วย และมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะไปแพร่เชื้อได้อีก เพราะในระหว่างการรักษานั้น แพทย์จะดูแลรักษาผู้ป่วยจนหายดี ไม่มีอาการ รวมถึงตรวจสอบอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ถึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้


          หายป่วยโควิดแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำได้หรือไม่
           ปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อโรค เมื่อมีการติดเชื้อและรักษาจนหายดี ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะเชื้อนั้นขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อนั้นซ้ำอีก

           อย่างไรก็ตาม สำหรับโรค  COVID-19  (https://covid-19.kapook.com/) มีการตรวจพบว่า ผู้ป่วยบางรายที่รักษาจนหายดีแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำอีก โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งสาเหตุที่มีการติดเชื้อซ้ำนี้ น่าจะเป็นเพราะร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงและแข็งแรงพอจะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ รวมถึงภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลงเมื่อเวลาผ่านไปด้วย

           สอดคล้องกับที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคที่เมื่อรักษาหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 แล้วนั้นจะลดลงหลังติดเชื้อ และโรคโควิด 19 เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวสั้น ทำให้ร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ขึ้นมาต้านทานได้ทัน แต่หากติดเชื้อซ้ำ อาการที่เป็นก็จะลดน้อยลง


          วิธีปฏิบัติตัวหลังหายป่วยออกจากโรงพยาบาล

[attach=1]

           สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจนหายดี แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ควรหมั่นดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อซ้ำอีก โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ออกจากโรงพยาบาล ดังต่อไปนี้

           1.  ไม่จำเป็นต้องกักตัว หรือแยกตัวจากผู้อื่น เพราะหายจากโรคนี้แล้ว สามารถไปทำงานได้ตามปกติ
           2.  สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่ออยู่ร่วมกัน หรือเมื่อออกจากบ้าน
           3.  ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก หรือปาก เพราะอาจรับเชื้อจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายได้
           4.  หมั่นล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ รวมถึงทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องหยิบจับอยู่เสมอ
           5.  รักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 - 2 เมตร ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือสัมผัสตัวผู้อื่น
           6.  ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ จาน ชาม รวมทั้งการดื่มน้ำหรือใช้หลอดดูดน้ำจากแก้วเดียวกัน
           7.  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
           8.  ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
           9.  นอนหลับให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 7 - 8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
           10.  หากไม่สบายให้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ไปเรียน หรือทำงาน และงดใช้รถสาธารณะ
           11.  สังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ กรณีที่ตัวเอง หรือสมาชิกในบ้านมีไข้ หรืออาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ ควรเข้าพบแพทย์


          การดูแลตัวเองให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด 19 ได้ เมื่อติดเชื้อขึ้นมาก็ย่อมมีโอกาสที่โรคจะหายได้เอง ดังนั้นอย่าลืมรักษาสุขภาพอยู่เสมอ บวกกับการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว และการรักษาระยะห่างระหว่างกัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก : 
 เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  (https://www.facebook.com/กรมควบคุมโรค-กระทรวงสาธารณสุข-470988516420706/)
 ทวิตเตอร์ กรมควบคุมโรค  (https://twitter.com/ddc_riskcom/status/1384745387366387712)
 เฟซบุ๊กกระทรวงสาธารณสุข [color] (https://www.facebook.com/watch/?v=799277277148385)
 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ข้อปฏิบัติมื่อผู้ป่วยโ/)
 เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan  (https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/5552477261461512)
 โรงพยาบาลกรุงเทพ  (https://www.youtube.com/watch?v=IUfuIzZLX1M)
 กรุงเทพธุรกิจ  (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873200)
 BBC  (https://www.bbc.com/thai/international-52338164)