soupvanclub
=> พิกัดเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 09 กันยายน 2558, เวลา 19:14:16 น.

หัวข้อ: ประเพณีการเลี้ยงดง ปู่แสะ - ย่าแสะ เชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 09 กันยายน 2558, เวลา 19:14:16 น.
ประเพณีการเลี้ยงดง ปู่แสะ - ย่าแสะ เชียงใหม่


[attach=1]


ในตำนานของเชียงใหม่ กับ ตำนานวัดพระธาตุดอยคำ ว่ากันว่า ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นผีบรรพบุรุษของพวกลั๊วะ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเชิงดอยสุเทพ มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเชิงดอยคำ ได้พบยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ซึ่งยังชีพด้วยเนื้อสัตว์ และเนื้อมนุษย์ เมื่อยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธเจ้าก็จะจับกิน แต่พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาจนยักษ์ทั้งสามเกรงในพระบารมี จึงยอมแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนา และให้ยักษ์ทั้งสามรักษาศีลห้า แต่ ปู่แสะ ย่าแสะ ไม่อาจรับศีลห้าได้ตลอด จึงขอกินเนื้อมนุษย์ปีละ 2 คน เมื่อพระพุทธองค์ไม่อนุญาต ก็ขอต่อรองลงมาเรื่อยๆ จนขอกินเนื้อสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสบอกให้ไปถามเจ้าเมืองเอาเอง แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไป โดยให้พระเกศธาตุไว้และต่อมากลายเป็นพระธาตุดอยคำ ...

          ปู่แสะ ย่าแสะ ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองให้กินเนื้อควายได้ปีละครั้ง จึงได้มีประเพณีฆ่าควายเอาเนื้อสดสังเวยแก่ ปู่แสะ ย่าแสะ ส่วนบุตรของ ปู่แสะ ย่าแสะ ได้บวชเป็นฤาษีชื่อ สุเทวฤาษี ...

          แต่เดิม กษัตริย์ ขุนนาง และ บรรดาชาวเมือง จะร่วมกันทำพิธีเลี้ยง ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นประจำทุกปี ต่อมาชาวบ้านตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้จัดเลี้ยง ปู่แสะ ย่าแสะ ในบริเวณที่อยู่ ปู่แสะ คือ หอผีกลางหมู่บ้านดอยสุเทพ (บริเวณใกล้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 เหนือ คือ ประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ขณะเดียวกันชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ จะเลี้ยง ย่าแสะ ที่ ดงย่าแสะ บริเวณเชิงดอยคำ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ และชาวบ้านจากสองตำบลนี้ จะเลี้ยงผีเองโดยไม่มีเจ้าเมือง หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดไปร่วมพิธี
         
          ในปี พ.ศ. 2480 ทางการได้ห้ามจัดการเลี้ยงผีขึ้น ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเสร็จ จึงได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาอีก แต่ให้ฆ่าควายดำเพียงตัวเดียว และทำพิธีรวมกันที่ดงย่าแสะ ที่เชิงดอยคำ ซึ่งก็ได้ทำกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

          ในการเลี้ยง ปู่แสะ ย่าแสะ ชาวบ้านจะเลี้ยง ขุนหลวงวิลังคะ ซึ่งหมายปองพระนางจามเทวีในอดีตไปพร้อมกันด้วย ก่อนจะทำพิธี จะมีการขึ้นท้าวทั้งสี่ คือ พิธีบอกกล่าวแก่ ท้าวจตุโลกบาต มีการสร้างปราสาท คือ หอผีชั่วคราวทำด้วยโครงไม้ไผ่ 12 หอ ซึ่งปราสาทของ ปู่แสะ ย่าแสะ จะมีขนาดใหญ่กว่าผีอื่นๆ โดยถือว่า ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นยักษ์
         
          หอทั้ง 12 นี้ จะปลูกยกพื้นเรียงเป็นแถวตามลำดับ คือ
          1.  หอปู่แสะ
          2.  หอย่าแสะ
          3.  หอเจ้าแม่คำเขียว
          4. - 11.  ไม่ทราบชื่อ
          12.  หอขุนหลวงวิลังคะ
         
          โดย หอปู่แสะ ย่าแสะ จะมีขนาดกว้าง ประมาณ 50 x 50 เซนติเมตร ยกพื้นสูง ประมาณ 1.5 เมตร หลังคามุงด้วยใบตองตึง (ภาษาเหนือ อ่านว่า ต๋องตึง) คือ ใบของต้นสัก ส่วนหออื่นๆ ทุกหอมีขนาด ประมาณ 40 x 50 เซนติเมตร ยกพื้นสูง ประมาณ 1 เมตร และ ไม่มีหลังคา
ควัก คือ กระทงที่บรรจุเครื่องเซ่นทำด้วยใบตองตึง กว้าง ประมาณ 25 เซนติเมตร และลึกพอสมควร รวม 12 กระทง
         
          นอกจากควักใหญ่แล้ว ยังต้องทำควักเล็ก ประมาณ 40 กระทง บรรจุ เนื้อดิบ เนื้อสุก แกง ลาบ เนื้อปิ้ง ข้าวสุก ดอกไม้ ธูป เทียน แล้วนำกระทงดังกล่าวไปใส่ในกระทงใหญ่ ทั้ง 12 กระทง แล้วนำไปวางไว้บนหอผี ส่วนพานข้าวตอกดอกไม้ จัด 5 พาน พร้อมทั้ง เทียนเงิน เทียนทอง ทั้งนี้ยังมีกระบอกไม้ไผ่บรรจุเหล้าอีก 22 กระบอก วางไว้ที่หอผีทั้ง 12 หอ อีกด้วย และยังต้องเอาด้ายสายสิญจน์วงล้อมหอทั้ง 12 ไว้ ถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามคนที่ไม่เกี่ยวกับพิธีการเข้าไปในนั้น
 
          สัตว์ที่จัดมาสังเวยผี ปู่แสะย่าแสะคือควายเขาดำ หรือควายรุ่นกระทงที่มีเขาสั้นเพียงหู เดิมนั้นให้สังเวยผีปู่แสะด้วยควายดำและสังเวยย่าแสะด้วยควายเผือก เมื่อฆ่าควายแล้วก็เอาเนื้อไปปรุงเป็นลาบและแกงต่าง ๆ และยังต้องนำเนื้อสันในสองชิ้นไปแขวนไว้ที่หอผีปู่แสะย่าแสะด้วยควายเผือก เนื้อที่เหลือก็จะนำไปปรุงเป็นอาหารเลี้ยงกัน ส่วนหนังควายที่ติดกับศรีษะนั้นจะนำไปปูไว้ที่หน้าปราสาทของผีปู่แสะย่าแสะ
   

          เมื่อเริ่มพิธี ปู่จารย์ หรือ ตั้งเข้า คือ คนประกอบพิธีจะทำพิธีอัญเชิญ ปู่แสะ ย่าแสะ ก่อน โดยมีใจความว่า ขอเชิญ ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นเค้า (ภาษาเหนือ อ่าน เป๋นเก๊า) คือ เป็นประธานของผีทั้งหลาย พร้อมทั้งผีลูกหลาน เสนาอำมาตย์ ทั้งปวงมารับเครื่องสังเวย และขอให้ผีทั้งหลายช่วยกันดูแลรักษาบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุข จากนั้น ปู่แสะ ย่าแสะ จะเข้าทรงม้าขี่ หรือ คนทรงก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่จัดไว้ให้แล้ว จะอวยชัยให้พรต่างๆ           

          ต่อจากนั้น ร่างทรงก็จะไปหยิบอาหารจากกระทงในปราสาท ทั้ง 12 มากินอย่างละเล็กละน้อย พร้อมทั้งดื่มเหล้าที่จัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นก็ไปนั่งบนหนังควาย โยกหัวควายไปมา พร้อมกับเอาเนื้อสดที่แขวนไว้ที่หอ เคี้ยวกินไปด้วย เมื่อเคี้ยวกินเนื้อ และดื่มเหล้าแล้ว ร่างทรงก็จะนำเอาท่อนไม้มาทำที่แคะฟัน แสดงว่าอิ่มหนำสำราญแล้ว ท้ายที่สุด ร่างทรงจะล้มลงนอนกับพื้นสักครู่หนึ่ง เมื่อร่างทรงลาทรงแล้วก็จะลุกขึ้นมามีอาการเป็นปกติ

          ภายหลังการนำเอาพิธีกรรม ทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการทำบุญเลี้ยงพระก่อนการทำพิธีสังเวย และในช่วงที่พระสงฆ์สวดอยู่นั้น ก็เชิญเอาพระบฎ หรือ แผ่นผ้าที่วาดรูปพระพุทธเจ้ามาแขวนแกว่งไกว เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อร่างทรงไปถึงก็จะใช้ไม้ตีที่พระบฎนั้น เป็นเสมือนว่าพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้า และตอนท้ายก็ยอมรับในพุทธานุภาพ

          การเลี้ยงผีโรง จะจัดเลี้ยงเฉพาะบ้านที่มีโรงเรือน ผีปู่ย่า ตายาย (โรงเรือนจะสร้างเป็นแบบบ้านหลังเล็กๆ มีเสาสี่เสา มีชานยื่นออกมาเล็กน้อย มีบันได 3 ขั้น มุงหลังคาด้วยสังกะสี หรือ มุงด้วยหญ้าคาก็ได้) มักจะทำพิธีเลี้ยง 3 ปี ต่อครั้ง เครื่องเลี้ยง หรือ เครื่องเซ่นในพิธี จะมี ผ้าม่าน  ช้าง ม้า มีดดาบ เรือ ดอกบัว ขนมเครื่อง กระยาสารท หัวหมู บายศรี 1 คู่ น้ำมะพร้าวอ่อน หมูช่วง ใบตอง 3 ยอด เหล้าขาว หมี่ผัด 3 จาน กล้วยสีนวล กล้วยน้ำว้า อย่างละ 3 หวี มันหมู (ใช้ข้าวเหนียวนึ่งโขลกกับงา ยัดเป็นตัวหมู ยัดไส้ด้วยน้ำอ้อยโขลก) เมี่ยงมอญ ขนมมอญ (ขนมสบัดงา) ลูกโทนดอกไม้มอญ พะโล้ ไก่ต้มยำ ขนมเปี๊ยะแผ่นใหญ่ หมูเผ็ด หมูหวาน ไก่เผ็ด ไก่หวาน ไข่แผ่น กระทงเล็กๆ สำหรับใส่เครื่องเซ่น ขันข้าง ซึ่งประกอบด้วยเหล้า ข้าวสาร ใส่กระทงธูป 1 ซอง เงิน 30 บาท ขันสำหรับทรง 4 คน ต่อจากนั้นก็นำของทั้งหมดวางบนโต๊ะหน้าโรงเรือน แล้วคนทรงจะเริ่มทำพิธีอันเชิญวิญญาณผีโรง ผีปู่ย่าผีเจ้าผีนาย และผีจากที่อื่นๆ มาเข้าร่างทรง เมื่อผีมาเข้าร่างทรงแล้วก็จะเข้าไปกินของต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้จนอิ่ม ก็จะออกจากร่างทรง คนทรงก็จะทรงผีอื่นต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนกว่าของจะหมด ผีบางร่างที่เข้าคนทรงแล้วเกิดสนุกก็จะลุกขึ้นเต้น หรือ ร้องรำทำเพลงตามประสาผี แต่บางร่างจะมากินเฉยๆ แล้วก็ไป เมื่อเสร็จจากการทำพิธีทรงร่างแล้ว จะมีการทำพิธีลาน้ำ โดยเอาของเซ่นต่าง ๆ ที่เหลือบนโต๊ะไปวางที่ยอดใบตองที่เตรียมไว้ซึ่งวางไว้ข้างล่าง จากนั้นคนทรงจะเต้นไปรอบๆ ของที่วางไว้ 3 รอบ แล้วเอาของพวกเครื่องใช้ขึ้นวางบนโรงเป็นอันเสร็จพิธี

เครื่องพลีกรรม ปู่แสะ ย่าแสะ
          ที่สำคัญ คือ ควายกีบเผิ้ง (ควายหนุ่มที่มีกีบเท้าสีเหลือง เขาควายยาวเท่าหู แต่ปัจจุบันบางครั้งก็ใช้ควายตัวโต) พร้อมกับเครื่องพลีกรรมอื่นๆ กล้วย อ้อย ของหวาน สถานที่ คือ ดงหลวงใกล้ๆ กับดอยคำ ทิศใต้ของดอยสุเทพ นครเชียงใหม่




http://maps.google.co.th/maps?um=1&hl=th&client=firefox-a&rls=org.mozilla:th:official&biw=1280&bih=631&q=18.756492, 98.922580 (http://maps.google.co.th/maps?um=1&hl=th&client=firefox-a&rls=org.mozilla:th:official&biw=1280&bih=631&q=18.756492, 98.922580)

พิกัด Gps. สถานที่จัดงาน ประเพณีเลี้ยงดง ปู่แสะ ย่าแสะ :  18.756492, 98.922580


เนื้อหาอ้างอิงจาก  http://www.chiangmaipao.go.th/ (http://www.chiangmaipao.go.th/)
หัวข้อ: Re: ประเพณีการเลี้ยงดง ปู่แสะ - ย่าแสะ เชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: เมย์ กฤตพร ที่ 10 กันยายน 2558, เวลา 21:13:57 น.
ไว้มีโอกาส คงได้ไปชมสักครั้ง