soupvanclub
=> พิกัดเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 06 กันยายน 2558, เวลา 13:16:22 น.

หัวข้อ: พระเจ้าตันใจ๋
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 06 กันยายน 2558, เวลา 13:16:22 น.
พระเจ้าทันใจ  (https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าทันใจ)

[attach=1]
 หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ อ.เมือง เชียงใหม่


พระเจ้าทันใจ  (https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าทันใจ) คือ พระธรรมไชย ความสำเร็จที่เราสร้างเอง
 ในวัฒนธรรมล้านนา มีพระพุทธปฏิมาอยู่ประเภทหนึ่ง ชื่อ พระเจ้าทันใจ (คนเหนือเรียก ผ่ะเจ้าตันใจ๋) เชื่อกันว่าใครทำอะไรแล้วติดขัด คับข้อง ต้องไปกราบขอพรจากพระเจ้าทันใจ พลันความปรารถนานั้นจักสำเร็จลุล่วงดั่งใจประสงค์


พระเจ้าทันใจ  (https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าทันใจ) มีคติความเป็นมาอย่างไร ช่วยประทานพรให้ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ยามบ้านเมืองวิกฤติข้าวยากหมากแพงได้จริงล่ะหรือ ?
 ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าทันใจ ก็ทำหน้าที่คล้ายกับพระคเณศร์ของพราหมณ์ หรือ พระสยามเทวาธิราชของชาวพุทธรัตนโกสินทร์ ยิ่งความทุกข์ระทมไม่สมหวังของผู้คนในสังคมพรั่งพรูสูงขึ้นเท่าใด กระแสความนิยมในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็พุ่งพรวดมากยิ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย


พระเจ้าทันใจ ทำไมต้องตั้งทางทิศตะวันตก ?
                ความเชื่อเรื่อง พระเจ้าทันใจ เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดให้ข้อสรุป แต่ที่แน่ๆ หลักฐานที่เห็นเป็นประติมากรรม ทั้ง รูป และ นาม พบว่าคติการสร้างพระเจ้าทันใจมีมาแล้วอย่างแพร่หลายในสมัยล้านนาตอนต้น เมื่อราว 700 ปี ที่ผ่านมา ทำให้น่าขบคิดว่า ล้านนารับอิทธิพลนี้มาจากไหน มอญ ขอม แขก จีน ลาว พม่า หรือ ล้านนา คิดขึ้นเอง ?

               พระเจ้าทันใจในล้านนา มีร่วมร้อยองค์พบได้ทั่วไปในหลายจังหวัด แต่พระเจ้าทันใจองค์สำคัญที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุด คือ พระเจ้าทันใจ  วัดพระธาตุแช่แห้ง  (https://www.facebook.com/soupvan/) เมืองน่าน ตำนานกล่าวไว้ว่าสร้างขึ้นพร้อมกับตัวองค์พระบรมธาตุแช่แห้งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ต่อมามีการซ่อมบูรณะองค์พระปฏิมาถึง 3 ครั้ง

               พระเจ้าทันใจ ที่ชาวล้านนาให้ความเคารพยิ่งอีกองค์หนึ่ง แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมักคุ้นนัก ทว่า นักวิชาการยังเชื่อว่าน่าจะเป็นต้นแบบในการสร้างพระเจ้าทันใจให้แก่วัดอื่นๆ คือ พระเจ้าทันใจ  วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน  (https://www.facebook.com/soupvan/) เป็นพระพุทธปฏิมาสำริดประทับยืนปางอุ้มบาตร (ทางล้านนาเรียก อุ้มโอ) ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกด้านหลังขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ (ตอนนี้กำลังปรับปรุงสถานที่) น่าเสียดายที่คนทั่วไปไม่รู้จักพระเจ้าทันใจองค์นี้ เหตุเพราะพระปฏิมาองค์งามตั้งอยู่ในซุ้มติดผนังด้านหลังสุด จึงถูกบดบังถึง 2 ชั้น

ชั้นแรกคือแถวพระพุทธรูปประทับยืน 7 องค์ เรียงรายทำขึ้นในช่วงไม่เกิน 15 ปี
ชั้นที่สองด้านหน้าสุดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง แบบทิเบต - เนปาล องค์ใหญ่โต สร้างขึ้นในยุคสมัยใหม่ไม่นานเช่นกัน ทำให้ผู้คนที่เข้ามาในพระวิหารหลังนี้มักมองไม่เห็นพระเจ้าทันใจองค์แท้ดั้งเดิม

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมพระเจ้าทันใจต้องตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเสมอ อันเป็นทิศหลบมุมอยู่ด้านหลังขององค์พระเจดีย์
                ไม่เพียงแต่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร หรือ วัดพระธาตุแช่แห้ง น่าน เท่านั้น แต่วัดสำคัญๆ หลายแห่ง เช่น  วัดพระยืน ลำพูน  (https://www.facebook.com/soupvan/) , วัดพระธาตุลำปางหลวง  (https://www.facebook.com/soupvan/) และ  วัดพระธาตุเสด็จ ลำปาง  (https://www.facebook.com/soupvan/) ต่างก็มีวิหารพระเจ้าทันใจตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกทั้งสิ้น ยกเว้นแต่วัดที่มีการต่อเติมเสริมวิหารขึ้นใหม่ในยุคหลัง เช่น  วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร  (https://www.facebook.com/soupvan/) วิหารพระเจ้าทันใจจึงถูกยักย้ายวางไว้ทิศอื่น

ทิศตะวันตกมีวิหารพระเจ้าทันใจ แล้วอีก 3 ทิศ มีวิหารอะไร คติการสร้างวิหารประจำทิศทั้ง 4 เปรียบเสมือนกับทวีปทั้ง 4 ที่ตั้งล้อมรอบเขาพระสุเมรุ แทนสัญลักษณ์ได้ดังนี้

                ทิศตะวันออก   เป็น  พระวิหารหลวง หมายถึง บูรพวิเทหทวีป
                ทิศใต้   เป็น  วิหารพระพุทธ หมายถึง ชมพูทวีป
                ทิศตะวันตก   เป็น  วิหารพระเจ้าทันใจ หมายถึง อมรโคยานทวีป
                ทิศเหนือ   เป็น  วิหารพระละโว้ หมายถึง อุตรกุรุทวีป

                ส่วนพระเจดีย์ประธานนั้นเป็นการจำลองพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าเป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล ถ้าเช่นนั้น วิหารพระเจ้าทันใจที่ถูกกำหนดให้สร้างอยู่ทิศตะวันตก ซึ่งเปรียบได้ดั่งอมรโคยานทวีปนี้ น่าจะมีเรื่องราวอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของบางเหตุการณ์ที่สำคัญในอมรโคยานทวีปหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่เคยมีการศึกษา แต่หากจะให้มองถึงการนำพระเจ้าทันใจไปไว้ยัง ทิศด้านหลัง ของพระเจดีย์ประธาน ก็น่าจะสะท้อนนัยอะไรบางอย่างแห่งการเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง กล่าวคือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่พื้นที่ของฝ่ายผู้มีอำนาจชี้นำ เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านทดสอบพลังศรัทธาชุมชน

               คติการสร้างพระเจ้าทันใจ ถือเป็นกุศโลบายที่แยบยลยิ่งในการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสร่วมสร้างองค์พระปฏิมาด้วยตนเอง แต่สามารถนำมาวางให้คนกราบไหว้ในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ แม้จะอยู่เบื้องหลังองค์พระธาตุเจดีย์ก็ตาม โดยปกติแล้วการจะสร้างพระพุทธรูปสักองค์หนึ่งเพื่อประดิษฐานในวิหารของวัดนั้น ผู้มีส่วนอุปถัมภ์ในการสร้างทั้งด้านออกแบบ และจัดหาวัสดุมักเป็นภาระของเจ้าอาวาส และสล่า (ช่าง) เอกเท่านั้น

               การดำริสร้างพระเจ้าทันใจมิใช่ว่าจู่ๆ เจ้าอาวาสของวัดนึกจะสร้างก็บอกบุญเรี่ยไร หากแต่ต้องเกิดจากเงื่อนไขและปัจจัยท้าทายเป็นตัวกระตุ้น เช่น ชุมชนนั้นๆ มีความประสงค์จะบูรณะสถูป มหาวิหาร สร้างเหมืองฝายให้เสร็จก่อนฤดูพรรษาแต่ยังขาดงบฯ หรือแม้กระทั่งถูกเกณฑ์ให้ไปออกรบ ผู้นำชุมชนทั้งฝ่ายวัดและฝ่ายบ้าน มองเห็นว่าวิธีที่จะเสริมกำลังใจให้ชาวบ้านที่ยังวิตกกังวลว่าพวกตนจะร่วมมือกันทำ งานใหญ่ ได้สำเร็จหรือไม่นั้น มีอยู่เพียงสถานเดียว คือต้องหาทางให้พวกเขาเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองเสียก่อน จึงเริ่มต้นเสี่ยงทายอธิษฐานจิตด้วยการสร้าง พระเจ้าทันใจ  เพื่อวัดพลังศรัทธาอันเป็นความสำเร็จในเบื้องต้น ถือเป็นการประเมินศักยภาพของหมู่คณะทั้งด้านมันสมอง กำลังทรัพย์ และแรงงานว่าจะมีความพร้อมเพรียงมากน้อยแค่ไหน เพราะหากปราศจากความร่วมมือร่วมใจแล้ว งานก่อสร้างขนาดใหญ่ย่อมไม่สำเร็จอาจค้างคา หรือการออกไปรบทัพจับศึกนั้นย่อมพ่ายแพ้กลับมา

               เงื่อนไขของการสร้างพระเจ้าทันใจจึงถูกบีบด้วย ระยะเวลาอันจำกัด อย่างที่สุด ต้องสร้างให้เสร็จภายในวันเดียวก่อนพระอาทิตย์ตกดิน คนโบราณมักยึดถือเอาตั้งแต่ฟ้าสางของวันนั้นจวบยามย่ำสนธยา หรือประมาณ 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น  บรรยากาศที่กดดันเช่นนี้ เชื่อว่าทุกคนย่อมทุ่มเทชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในด้านวัสดุนั้นไม่จำกัดประเภท เท่าที่พบมักหล่อด้วยสำริดมากกว่าวัสดุอื่น เพราะสะดวกต่อการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ชาวบ้านร้านตลาดที่ผ่านไปมาแม้ไม่มีฝีมือในการสร้างพระ ขอแค่มีศรัทธาก็อาจปลดเข็มขัดทองเหลือง หรือ สร้อยนาก สักเส้นสองเส้น ลงในเบ้าหล่อพระพุทธรูป ถือว่าเป็นการร่วมบุญอย่างสูงสุดแล้ว อีกทั้งไม่มีข้อจำกัดในด้านสัดส่วน พระเจ้าทันใจที่พบหลายแห่งมักมีขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่โตเกินไปนัก และฝีมือการหล่อมักไม่ค่อยประณีตสวยงามเท่าที่ควร เหตุเพราะต้องสร้างแข่งกับกาลเวลาอันบีบรัดด้วยความเร่งรีบ

               ยกเว้นพระเจ้าทันใจที่  วัดพระยืน ลำพูน  (https://www.facebook.com/soupvan/) นั้นมีขนาดใหญ่มาก อาจเป็นเพราะทำด้วยปูนหุ้มโครงอิฐไว้ภายใน ไม่ได้หล่อสำริดเหมือนวัดอื่นๆ หรือ พระเจ้าทันใจ  วัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ลำพูน  (https://www.facebook.com/soupvan/) ก็ถือว่ามีพระพักตร์วิจิตรงดงาม แทบไม่น่าเชื่อว่าหล่อสำเร็จภายในวันเดียว หรืออาจเป็นเพราะว่าวัดนี้เป็นวัดหลวง ชาวบ้านชาวเมืองจึงทุ่มเทแรงศรัทธาสุดชีวิต

               ในด้านพุทธศิลปะนั้นไม่มีการระบุปาง ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าทันใจ จึงมิได้มีพุทธลักษณะตายตัวเพียงแบบเดียว พบทั้งประทับนั่ง ประทับยืน ขึ้นอยู่กับรสนิยม ความพร้อม ความต้องการ และความสะดวกของแต่ละชุมชน กล่าวให้ง่ายก็คือ รูปแบบค่อนข้างฟรีสไตล์ขอให้เสร็จภายในหนึ่งวันเท่านั้น หากสร้างพระพุทธรูปไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เหตุเพราะขาดความร่วมแรงร่วมใจ โปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ที่วาดหวังไว้ก็พังพินาศตั้งแต่นะโม จงเลิกล้มความฝันนั้นลงเสีย แต่หากสำเร็จ พระพุทธรูปองค์นั้นจักได้ขึ้นชื่อว่า พระเจ้าทันใจ คนในชุมชนเกิดกำลังใจที่ฮึกเหิม เพิ่มความมั่นใจว่าจักสามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาใดๆ ให้ลุล่วงได้โดยง่ายทันที จากนั้นชาวบ้านมักอัญเชิญพระเจ้าทันใจไปประดิษฐานไว้ในวิหารทางทิศตะวันตกที่แยกออกมาจากวิหารหลวงของวัดที่อยู่ใกล้ชุมชนนั้นๆ

               พระเจ้าทันใจ จึงถือว่าเป็นพระพุทธปฏิมาที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในทุกขั้นตอน นับแต่การดำริที่จะสร้าง กระบวนการเชิงช่าง จนถึงพลังใจที่เฝ้าลุ้นหน้าดำคร่ำเคร่งอยู่ข้างเตาหลอมจนสำเร็จ คงไม่ผิดนักหากกล่าวว่าพระเจ้าทันใจเป็น พระพุทธรูปของชาวบ้าน อย่างแท้จริง


พระเจ้าทันใจ - พระเจ้าทันจิต

                เมื่อพระเจ้าทันใจกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ทำให้วัดหลายแห่งทั้งในล้านนาและภาคกลางเกิดความนิยมตั้งชื่อพระพุทธรูปบางองค์ที่ไม่ได้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องอันใดกับการสร้างขวัญ กำลังใจของคนในชุมชน ว่า พระเจ้าทันใจ เลียนแบบ เช่น กรณีของ วัดหม้อคำตวง เชียงใหม่ มีพระเจ้าทันใจอยู่องค์หนึ่ง แต่จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสได้ความว่า พระเจ้าทันใจที่นี่ได้มาจากรัฐฉานในพม่าสมัยที่พระญากาวิละกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ให้มาตั้งถิ่นฐานเมื่อ 200 ปีก่อน เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ไม่เคยมีชื่อ แต่เมื่อชาวบ้านพากันมาอธิษฐานจิตขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นไปตามความประสงค์ ไปๆ มาๆ ก็เกิดการเรียกชื่อว่า พระเจ้าทันใจ เอาอย่าง

โปรดระวัง เมื่อไปพบพระเจ้าทันใจวัดใดก็ตาม อย่าเพิ่งรีบปักใจเชื่อว่าได้พบ พระเจ้าทันใจ แล้ว เพราะแม้แต่พระเจ้าทันใจเอง ก็ยังมีทั้งองค์แท้ และ องค์ที่ลอกเลียนชื่อ !

                นอกจากพระเจ้าทันใจ พระภิกษุรูปหนึ่งในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ลำพูน เล่าว่า ยังเคยมีพระพุทธรูปชื่อละม้ายกันว่า พระเจ้าทันจิต อีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย เคยประดิษฐานอยู่เคียงคู่กันกับพระเจ้าทันใจในพระวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเคลื่อนย้ายไปที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ในสมัยที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาตรวจราชการมณฑลพายัพเมืองลำพูนใน ปี พ.ศ. 3469

                พระเจ้าทันจิต สร้างด้วยคติความเชื่อใด เหมือนหรือแตกต่างกับพระเจ้าทันใจ เชื่อว่าไม่เคยมีใครศึกษา แต่ชาวล้านนารุ่นก่อนที่อายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี เคยเห็นพระเจ้าทันจิต ยังคงโศกาดูรละห้อยหา เพียรฝากถามอยู่เนืองๆ ถึงชะตากรรมของพระเจ้าทันจิตองค์นั้น ว่ายังคงอยู่รอดปลอดภัยในวัดพระแก้วหรือมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ไปอยู่แห่งหนไหนหรือไม่


พระเจ้าทันใจ คือ พระธรรมไชย ความสำเร็จที่เราสร้างเอง
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 77




 soupvan cnx.  (https://www.facebook.com/soupchiangmai) ยินดีให้คำปรึกษา เส้นทางการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยวระหว่างเดินทาง และ ที่พัก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

 จัดทริปเที่ยว ส่วนตัว หรือ หารเฉลี่ย
หาที่พัก สอบถามการเดินทาง ข้อมูลเกี่ยวกับการเที่ยว ...
พูดคุย ทักทาย กันที่  กลุ่ม "soupvan พาเที่ยว"  (https://www.facebook.com/groups/soupvanpateaw/) ได้นะครับ ...



soupvan cnx. line id. / tel. 08-1032-1805 (http://www.facebook.com/soupvan/)


:Big-QQ (45):      :Big-QQ (45):    soupvan cnx.    :Big-QQ (45):      :Big-QQ (45):