soupvanclub
=> พิกัดเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 04 กุมภาพันธ์ 2564, เวลา 22:58:05 น.

หัวข้อ: สถาปัตยกรรมล้านนา สะท้อนความเจริญของพุทธศาสนาในอดีต
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 04 กุมภาพันธ์ 2564, เวลา 22:58:05 น.
สถาปัตยกรรมล้านนา สะท้อนความเจริญของพุทธศาสนาในอดีต (https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/921260/)
บทความจาก  (https://www.facebook.com/soupvan/): chiangmainews.co.th (https://www.chiangmainews.co.th/)/ สถาปัตยกรรมล้านนา สะท้อนความเจริญของพุทธศาสนาในอดีต  (https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/921260/)


[attach=1]

           หากพูดถึงความเก่า ความหลัง ความขลัง ด้วยมนต์เสน่ห์เมืองน่าอยู่ "เชียงใหม่" คงเป็นชื่อที่ใครหลายๆ คนนึกอยู่ในใจ อีกทั้งเชียงใหม่ยังมีวัดวาอารามต่างๆ มากมาย โดยรอบคูเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาของดินแดนล้านนาในอดีต ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศให้เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่

           วันนี้ "เชียงใหม่นิวส์" ขอยกตัวอย่างวัดที่มีความงดงามในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่ใครผ่านไปผ่านมาก็อดเหลียวหลังไปชมความงามไม่ได้


สถาปัตยกรรมคืออะไร ?
           สถาปัตยกรรม หมายถึง ผลงานศิลปะที่แสดงออกสิ่งก่อสร้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสิ่งปลูกสร้างนั้น ที่มาจากการออกแบบของมนุษย์ ด้วยศาสตร์ทางด้านศิลปะ การจัดวางที่ว่าง ทัศนศิลป์ และวิศวกรรมการก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ใช้สอย สถาปัตยกรรมยังเป็นสื่อความคิด และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมในยุคนั้นๆ ด้วย เช่น บ้านเรือน, ตำหนัก, วัง และพระราชวัง วัด, สถูป, เจดีย์, โบสถ์, วิหาร เป็นต้น สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ ล้วนมีความทนทาน มีอายุยาวนานปรากฏเป็นอนุสรณ์มาจนถึงปัจจุบัน


วัดที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมล้านนา

1.  วัดโลกโมฬี

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%AC%E0%B8%B5-600x600.jpg)

           วัดโลกโมฬี เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อายุกว่าห้าร้อยปี สร้างในสมัยอาณาจักรล้านนา มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากมาย เช่น เจดีย์ของวัดโลกโมฬี เป็นเจดีย์ที่สร้างปลาย พุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ภายในองค์เจดีย์ก็ได้ประดิษฐานอัฐิของพระองค์ด้วย วิหาร สร้างขึ้นด้วยไม้สักทั้งหลังซึ่งเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ และโดดเด่นที่ รูปปั้นนาคาบริเวณทางขึ้นวิหาร ทำให้ดูน่าเกรงขาม ทั้งส่วนหน้าบันของวิหารได้ประดับไปด้วยกระจกสี หลังคาลงพื้นด้วยสีดำทำให้ขับกับแสงสะท้อนของกระจกดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ส่วนด้านหลังของวิหารเป็นที่พำนักและกุฏิของสงฆ์ ซึ่งเป็นการสร้างขึ้นในแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ใกล้แจ่งหัวริน เป็นวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/1%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A1-1-600x600.jpg)

          พระประธาน :  พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี (มวยผม)
          ที่ตั้ง :  เลขที่ 229 ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง เชียงใหม่




2.  วัดลอยเคราะห์

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C-600x600.jpg)

           วัดลอยเคราะห์ เดิมชื่อว่า “วัดร้อยข้อ” (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1910 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงปลายรัชสมัยพม่ายกทัพมาตีล้านนา และยึดครองล้านนาได้สำเร็จ วัดต่างๆ ในเชียงใหม่จึงถูกทิ้งร้างไป ต่อมาพระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนที่ยังคงอยู่ใต้การปกครองของพม่าได้สำเร็จ จึงได้กวาดต้อนชาวเชียงแสนมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของคูเมือง และมี “ชาวบ้านฮ่อม” ชาวเชียงแสนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาในสมัยนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดร้อยข้อขึ้นมาใหม่ และนำชื่อวัดในเมืองเชียงแสนมาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า “วัดลอยเคราะห์” วัดนี้ได้รับการดูแลจากชุมชนเสมอมา

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A1-1-600x600.jpg)

           ล่าสุดได้รับการบูรณะใน ปี พ.ศ. 2550 - 2551 ซึ่งเป็นการบูรณะที่ยังคงรักษารูปแบบเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2408 พระวิหารของวัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2545 หน้าบันโดดเด่นด้วยลายปูนปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ สัตว์ในวรรณคดี และลายพรรณพฤกษา ภายในประดิษฐาน “พระพุทธศุภโชคศรีลอยเคราะห์มิ่งมงคล” ซึ่งมีความเชื่อกันว่าหากผู้ใดมาสักการะจะหมดทุกข์โศกทั้งปวง

          ที่ตั้ง :  ถนนลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง เชียงใหม่  




3.  วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C-600x600.jpg)

           วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราว ปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดในระหว่าง พ.ศ. 1900 - 2000 แต่เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่างๆ เช่น นกยูง, นกกระสา, นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ ด้านบนอุโมงค์เป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอดด้านหน้าอุโมงค์มีเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/3%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A1-2-600x600.jpg)

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/3%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A2-2-600x600.jpg)

           ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1950 – 2100 บริเวณวัดเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เป็นสวนป่าที่เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา ด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน เดินเล่นได้ และเป็นสถานที่ดูนกที่ดีอีกแห่งหนึ่ง

          ที่ตั้ง :  เลขที่ 135 หมู่ที่ 10 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่




4.  วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87-600x600.jpg)

           พระเจดีย์หลวง สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างใน ปี พ.ศ. 1928 – 1945 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา แต่สร้างไม่เสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี พระมเหสีของพญาเมืองมา ก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เรียกกันว่า "กู่หลวง"

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/4%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A1-600x600.jpg)

           พญาติโลกราช โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคตเป็นนายช่างใหญ่ดำเนินการปฏิสังขรณ์รพระเจดีย์หลวง ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2021 ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายได้ปิดทองภายในซุ้มจรนัมของพระเจดีย์ หลวงทั้ง 4 ด้าน ในรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2046 ได้โปรดให้สร้างหอพระแก้ว และอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐาน สร้างมหาวิหาร ส่วนการบูรณะพระเจดีย์หลวงได้ดำเนินการเพียงเล็กน้อย

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/4%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A2-600x600.jpg)

           ในที่สุดเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ใน ปี พ.ศ. 2088 ในรัชสมัยพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา ยอดพระเจดีย์หลวงก็พังทลายลงมา เหลือให้เห็นดังสภาพปัจจุบัน

          ที่ตั้ง :  ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่




5.  วัดสวนดอก

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/5%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81-600x600.jpg)

           วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม สร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยใน ปี พ.ศ. 1914 พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน"[/b] ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุ" 1 ใน 2 องค์ ที่ "พระมหาเถระสุมน" อัญเชิญมาจากสุโขทัย ใน ปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

           ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A1-1-600x600.jpg)

           วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งใน ปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

          ที่ตั้ง :  ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่




6.  วัดพระสิงห์ราชวรวิหาร

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/6%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%8C-600x600.jpg)

           วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา สร้างขึ้นในสมัย พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย มาประดิษฐาน

           ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 วัดพระสิงห์ได้รับพระกรุณาโปรดให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหารวัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทาง มาเคารพ สักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำ ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางราชการ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธา ประชาชนได้พากันมา สรงน้ำเนื่อง ในเทศกาลปีใหม่ ตามคติล้านนา คนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

          พระพุทธรูปสำคัญ :  พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์)
          ที่ตั้ง :  ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่




7.  วัดเจ็ดลิน

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/7%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99-600x600.jpg)

           วัดเจ็ดลิน เดิมเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปีพุทธศักราช 2060 ที่เรียกว่า วัดเจ็ดลิน นั้น ภายในวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหลัง ปัจจุบันยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่ ตามประวัติกล่าวว่า ในอดีต กษัตริย์ ในราชวงศ์มังราย พระองค์ใด ก่อนจะขึ้นเสวยราชย์จะต้องไป ทรงผ้าชุดขาว (นุ่งขาวห่มขาว) ณ วัดผ้าขาว ก่อน จากนั้นจะเสด็จ ไปสะเดาะเคราะห์ ณ วัดหมื่นตูม และจะเสด็จไปประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน ในการประกอบพิธีราชาภิเษกนั้น จะทำรางน้ำ หรือที่ทางเหนือเรียกว่า “ลิน” ทำด้วยคำไว้ 7 ลิน แล้วนำน้ำพุทธาภิเษกใส่สุวรรณหอยสังข์ หล่อลงรางลินทำด้วยคำทั้ง 7 เพื่อสรงพระวรกาย จากนั้น จึงเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์ต่อไป

(https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/7%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A1-1-600x600.jpg)

           จุดเด่นสำคัญของวัดเจ็ดลิน คือ สะพานโต่วะ เป็นสะพานไม้ไผ่ ตั้งอยู่ในบริเวณหนองน้ำของวัดเจ็ดลิน คำว่า โต่วะ เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า สะพานไม้ไผ่ โดยสะพานโต่วะนี้ทำขึ้นโดยสามเณรและพระของวัดเจ็ดลิน โดยสะพานจะทอดยาวข้ามหนองน้ำ เชื่อมต่อระหว่างสองฝั่ง

           นอกจากสะพานไม้โต่วะ ภายในวัดเจ็ดริน ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น วิหารแบบล้านนา พระพุทธรูปปางมารวิชัย เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม หุ่นปั้นพระเถระ และศาลาริมน้ำ สำหรับใช้ในการเรียนการสอน และอ่านตำราทางพระพุทธศาสนา

          ที่ตั้ง :  ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่


สรุป
           นอกจากวัดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เชียงใหม่ยังมีวัดอีกมากมาย ที่ตั้งอยู่รอบเมือง ซึ่งแต่ละวัดมีประวัติแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่มีความเหมือนกันคือ สถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ใครผู้คนได้ชมความงามและไปสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดต่างๆ อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยความสงบและเรียบง่ายนี่เองทำให้เป็นเสน่ห์ที่ผู้คนต่างหลงใหล

 เรียบเรียงโดย :   "เชียงใหม่นิวส์"  (https://www.chiangmainews.co.th/)