soupvanclub
=> พิกัดเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 09 พฤษภาคม 2559, เวลา 20:03:51 น.

หัวข้อ: ประเพณีเตียวขึ้นดอย พระธาตุดอยสุเทพ 2559
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 09 พฤษภาคม 2559, เวลา 20:03:51 น.
ประเพณีเตียวขึ้นดอย พระธาตุดอยสุเทพ

[attach=1]

          ในช่วงหัวค่ำ ก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙) จะมีประเพณีที่สำคัญพิธีหนึ่ง คือ ประเพณีเตียวขึ้นดอย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร เพื่อไปกราบนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ และทำบุญตักบาตร พระภิกษุสงฆ์ ในตอนเช้าของวันวิสาขบูชา โดยมี พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชน ทุกเพศ ทุกวัย มาร่วมเดินขึ้นดอยสุเทพ

ความเป็นมา
          ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ถ่ายทอดต่อๆ กันมาว่า คงจะเริ่มกันตั้งแต่มีเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ที่องค์พระบรมสารีริกธาตุ วัดสวนดอก ได้แยกออกเป็น ๒ องค์ ทำให้ พระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองราชย์ในสมัยนั้น คิดหาสถานที่ที่จะสร้างวัดขึ้น เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง จึงทรงทำการเสี่ยงทายในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ของปีนั้น ทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล ถ้าช้างไปหยุด ณ จุดใด ก็จะใช้สถานที่นั้น เป็นที่สร้างวัด เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

          ช้างเสี่ยงทายได้เริ่มเดินออกจากวัดสวนดอก มุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพไปจนถึงยอดชั้นที่ ๑ ชื่อ ดอยหมากขนุน หรือ ดอยช้างนูน และเดินต่อไปถึงยอดชั้นที่ ๒ ชื่อ ดอยสนามยอด หรือ ดอยสามยอด ระหว่างทางช้างเกิดสั่น และหยุดพักช่วงหนึ่ง พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ จุดที่ช้างพัก (ปัจจุบัน คือ วัดผาลาด) เมื่อช้างหายเหนื่อยก็ออกเดินมุ่งหน้าไปจนถึงชั้นที่ ๓ ชื่อว่า ดอยสุเทพ ซึ่งขณะนั้นมีฤาษีวาสุเทพนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำ ช้างก็ไปหยุด และล้ม (ตาย) ที่นั่น พระเจ้ากือนาจึงทรงให้สร้าง วัดพระธาตุดอยสุเทพขึ้นตรงจุดนั้น และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ และในปัจจุบันมีการปั้นรูปช้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย

          จากจุดที่ช้างเดินจากวัดสวนดอกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเส้นทางที่เรียกว่า ด่านช้าง ภายหลังจากที่สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพเสร็จแล้ว พระเจ้ากือนาก็ทรงใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ จนกลายมาเป็นประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพสืบต่อมา ด้วยเชื่อว่า จะทำบุญให้ได้กุศลแรงจะต้องเดินขึ้นไปทำบุญที่วัด

          จุดเปลี่ยนแปลงของประเพณีเกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อครูบาศรีวิชัยร่วมกับชาวล้านนาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เพราะเส้นทางเดิมที่ใช้เดินขึ้นดอยระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร ลักษณะเป็นทางเดินเท้า ทั้งสูงชัน และคับแคบ ดังนั้น เมื่อเดินทางไปจะต้องพักแรมอยู่เป็นเวลาหลายวันถึงจะเดินทางกลับบ้าน เส้นทางที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้น ชื่อ ถนนศรีวิชัย โดยเริ่มจากวัดสวนดอก ไปตามถนนสุเทพ ผ่านวัดผาลาดไปยังพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งในตอนแรกที่ทำเป็นถนนดินลูกรัง ต่อมามีการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อพระธาตุดอยสุเทพเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามเส้นทางระหว่างถนนศรีวิชัย ไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระครูบาศรีวิชัยและชาวพุทธ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นอีก ๓ วัด คือ วัดโสดาบรรณ หรือ วัดศรีโสดา วัดสักกินาคา (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์) และ วัดอนาคามี โดยวัดสักกินาคา และ วัดอนาคามี ถูกทำลายไปแล้ว