soupvanclub
=> พิกัดเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566, เวลา 09:08:52 น.

หัวข้อ: วัดโพธิ์
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงซุป เชียงใหม่ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566, เวลา 09:08:52 น.
วัดโพธิ์ มรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติจากยูเนสโก (https://mthai.com/travel/bangkok/313671.html)
บทความจาก :   (https://www.facebook.com/soupvan) mthai.com (https://mthai.com/)


(https://mthai.com/app/uploads/2023/02/thumbnail_wat_pho_line_album_mthai_66.jpg)

 กรุงเทพมหานครฯ

วัดโพธิ์ มรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติจากยูเนสโก
           วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ วัดโพธาราม เรียกสั้นๆ ว่า "วัดโพธิ์" เป็นวัดโบราณราษฎรสร้างระหว่าง ปี พ.ศ. 2231 - 2246 ในรัชกาลพระเพทราชา สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยธนบุรีพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงมีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

(https://img-ha.mthcdn.com/IxOyFP1C5WG7IaiaM541cv1x8R8=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_08.jpg)

           ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการบูรณะใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2332 ใช้เวลาสร้าง 7 ปี 5 เดือน 18 วัน โปรดเกล้าให้จัดงานฉลองและพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ต่อมาใน พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์อีกครั้งใช้เวลา 16 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์พระรัศมีพระพุทธไสยาสน์ และทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” พร้อมทั้งทรงสถาปนาพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4 ขึ้นในวัดองค์หนึ่งเรียกว่า เจดีย์รัชกาลที่ 4 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบให้กระทรวงโยธาธิการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์จนถึงปัจจุบัน การบูรณะใหญ่ครั้งที่ 2 ดำเนินการในสมัยรัชกาลที่ 5 และการบูรณะใหญ่ครั้งที่ 3 ดำเนินการในรัชกาลปัจจุบัน

(https://img-ha.mthcdn.com/adUPO2dBVrDlTSY_gjbOJv460Xk=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_14.jpg)

พระอุโบสถ
           สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ขยายและสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะเป็นทรงรัตนโกสินทร์ฐานตรง เสาสี่เหลี่ยมแต่งมุมเป็นรูปเล็บมือ ปลายสอบเล็กน้อย ไม่มีบัวหัวเสาและตีนเสา หลังคามุขลดชั้นสามชั้นเครื่องบนหน้าจั่วเป็นเครื่องลำยองมีไขราหน้าจั่วต่อด้วยปีกนก พนักระหว่างเสาก่อด้วยกำแพงประดับศิลา ด้านนอกสลักภาพเรื่องรามเกียรติ์ และมีโคลงจารึกบอกเรื่องไว้ด้านบน มีจำนวน 158 ภาพ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านในพระอุโบสถที่เชิงบุด้วยแผ่นศิลาสูงถึงระดับหน้าต่างผนัง ระหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ 41 เรื่อง

(https://img-ha.mthcdn.com/Sj90i8Pyaj4H9xU6DM2UlIq78io=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_13.jpg)

           เสาในพระอุโบสถมี 16 ต้น เขียนเป็นลายดอกไม้ก้านแย่งสลับนกบานประตูพระอุโบสถด้านนอกประดับมุกทั้ง 8 บาน เป็นลายภาพเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปพัดพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ทั้งฝ่านคามวสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง ซุ้มประตูทำเป็นทรงมงกุฎ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูทำเป็นทรงมงกุฎ บานหน้าต่างด้านนอกปิดทองประดับกระจกลายแก้วชิงดวง ด้านในหน้าต่างเขียนลายรดน้ำเป็นตราเจ้าคณะสงฆ์ กรอบเช็ดหน้าเขียนลายทองเป็นเครื่องเทศ รูปสัตว์ต่าง ๆ ข้างกบประดับกระเบื้องเคลือบเป็นดอกดวง ซุ้มหน้าต่างทำเป็นทรงมงกุฎ บริเวณกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถมีซุ้มประตู 8 ซุ้ม และซุ้มสีมา 8 ซุ้ม ประตูกำแพงแก้วมีรูปสางหล่อด้วยสำริดสร้างขึ้นแทนสิงห์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

(https://img-ha.mthcdn.com/V2zXIb8iCNuAgd2X-gVPwSUT664=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_10.jpg)

พระเจดีย์กลุ่ม
           เป็นพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ กลุ่มละ 5 องค์ ตั้งอยู่ที่ตรงมุมวิหารคต ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ ล้อมองค์กลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่และสูงกว่า ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ลักษณะสำคัญของพระเจดีย์ 4 องค์เล็ก แบ่งเป็น ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานทักษิณ, ฐานเขียง, ฐานสิงห์ 2 ชั้น, บัวถลา, บัวลูกแก้วอกไก่, บัวปากระฆัง ส่วนองค์ระฆังประกอบด้วย องค์ระฆัง และบัลลังก์ และส่วนยอดประกอบด้วย คอฐานยอด, บัวถลา, บัวกลุ่ม 7 ชั้นปลี, ลูกแก้ว, ปลียอด, เม็ดน้ำค้าง ในขณะที่พระเจดีย์องค์กลาง ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานเขียงย่อมุมไม้สิบสอง, ฐานสิงห์ 3 ชั้น, บัวถลา, บัวลูกแก้ว, อกไก่, บัวปากระฆัง ส่วนองค์ระฆังประกอบด้วย องค์ระฆัง และบัลลังก์ และส่วนยอดประกอบด้วย คอฐานยอด, บัวถลา, บัวกลุ่ม 9 ชั้น, ปลี, ลูกแก้ว, ปลียอด, เม็ดน้ำค้าง

(https://img-ha.mthcdn.com/cHiXz_d8mv-75mg3owk-8YoUMQI=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_07-684x1024.jpg)

พระปรางค์
           ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานเขียงสี่เหลี่ยมตัดมุม ฐานสิงห์ 3 ชั้น ฐานบัวลูกแก้วอกไก่, ส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วย ฐานบัวลูกแก้วอกไก่, เรือนธาตุ มีรูปปั้นเทวดายืนถือพระขรรธ์ในซุ้มคูหาทั้งสี่ทิศ บัวหงาย และส่วนยอดประกอบด้วยฐานยอดทำเป็นรูปปั้นมารแบก ปรางค์ ยอดนภศุล

(https://img-ha.mthcdn.com/DF9An5fybW1Fn026LlsYnVKaCjc=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_11.jpg)

พระมหาเจดีย์
           มีจำนวน 4 องค์ เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ได้แก่

[attach=1]

           1.  พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชรญดาญาณ เป็นพระมหาเจดีย์องค์กลางสีเขียว สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปองค์นี้เดิมอยู่วัดพระศรีสรรเพชรญ์ พระนครศรีอยุธยา ถูกพม่าเผาไฟลอกทองคำไปเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไม่สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ได้จึงอัญเชิญมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ และถือเป็นเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 เมื่อได้บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
           2.  พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน อยู่ทางด้านเหนือองค์สีเหลือง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่ออุทิศแด่พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือกันว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2

(https://img-ha.mthcdn.com/hVBC8JYc2KJYNhwmHahPJ-r5qyc=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_03-768x1024.jpg)

           3.  พระมหาเจดีย์มุนีบัติบริขาร อยู่ทางทิศใต้องค์สีส้มย่อมุมไม้สิบสอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือกันว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 ซึ่งลักษณะสำคัญของเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1-3 จากฐานไปถึงยอดมีดังนี้ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลียมตัดมุมทำในรูปฐานสิงห์ ฐานสิงห์ 3 ชั้น ฐานบัวปากระฆัง (ส่วนฐานบัวปากระฆังนี้มีลักษณะพิเศาเพิ่มจากแบบประเพณีทั่วไปคือ ประกอบด้วยบัวคว่ำลูกแก้วอกไก่ บัวปากระฆังและบัวเชิงบาตร) ส่วนองค์ระฆัง ส่วนบัลลังก์ คอฐานยอดมีเ สาหารรอบ บัวถลา ส่วนยอดประกอบด้วย บัวกลุ่ม 11 ชั้น ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง
           4.  พระมหาเจดีย์ศรีสุริโยทัย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกตรงกับองค์กลาง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างเลียนแบบเจดีย์ศรีสุริโยทัยที่วัดสวนหลวงสบสวรค์ พระนครศรีอยุธยา ลักษณะสำคัญของเจดีย์นี้ คือ ส่วนฐานสูง ประกอบด้วยฐานเขียงสูงทำเป็นฐานทักษิณ ฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสองและย่อเก็จเพิ่ม ย่อแบบ 45 องศา ฐานบัวลูกแก้วกลม ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนที่เป็นฐานเก็จเพิ่ม นั้นทำเป็นซุ้มคูหาทั้ง 4 ทิศ เฉพาะทิศเหนือและทิศใต้มีเจดีย์กลมตั้งอยู่บนหลังคาซุ้ม ส่วนองค์เจดีย์ ประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วกลม 3 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อรัศมี ส่วนองค์ระฆังและส่วนบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อรัศมี คอฐานยอดมีเสาหาร ส่วนยอดประกอบด้วย ปล้องไฉน 21 ปล้อง ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง

(https://img-ha.mthcdn.com/Fg190G4HQVrvLM9L5r8TKabLqPU=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_04-737x1024.jpg)

           วัดนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 จารึกวัดโพธิ์ได้รับการประกาศรับรองให้เป็น มรดกความทรงจำแห่งโลก โดยไม่เพียงแต่เป็นวัดคู่บ้านเมืองมาช้านาน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์ ยังเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 อีกทั้งยังเป็นดั่งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย โดยเมื่อครั้งอดีต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นสถานที่เล่าเรียน พระปริยัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ และได้นำเอาตำราวิชาการด้านต่างๆ มาจารึกไว้โดยรอบ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการแพทย์ จนกลายเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง กระทั่งทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน ให้เป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 และในวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

(https://img-ha.mthcdn.com/7d3e4CP-z4L1ZuEzAi8dAz7DyqA=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_01-769x1024.jpg)

(https://img-ha.mthcdn.com/VPh1puqrvEB3fifeN67MyRVwuBo=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_12-768x1024.jpg)

           วัดโพธิ์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา ที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2551 รางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย

(https://img-ha.mthcdn.com/oWmm4BV3Pa54MpsqvDQc1NYyyUI=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_09.jpg)

           จุดเด่น คือพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการ อันเป็นลักษณะหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ

(https://img-ha.mthcdn.com/t-ysiTvHOGadpwLKKTD9yMsWXcU=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_06-768x1024.jpg)

(https://img-ha.mthcdn.com/SnoKr_nDSeyaJV8reQ6NMFGKaVU=/mthai.com/app/uploads/2023/02/wat_pho_line_album_mthai_66_05-768x1024.jpg)

           นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระเจดีย์ กระจายอยู่ทั่วไปรวมทั้งสิ้น 99 องค์ ซึ่งนับเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย พระเจดีย์ที่สำคัญ เช่น พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งถือเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ จะทรงบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ทุกรัชกาล ทำให้วัดโพธิ์ยังคงดูใหม่ และได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีจวบจนถึงปัจจุบัน

 ชาวไทยเข้าชม ฟรี
 ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม  200 บาท/คน

 ที่ตั้ง :  2 ถนนสนามชัย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง)
 เปิดตั้งแต่ 08.00 - 17.00 น.

แหล่งอ้างอิง
 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
 กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.


[attach=2]