soupvanclub
=> อาราม และเรื่องเล่าเมืองล้านนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Jomjam Jam ที่ 17 สิงหาคม 2559, เวลา 15:22:39 น.

หัวข้อ: วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Jomjam Jam ที่ 17 สิงหาคม 2559, เวลา 15:22:39 น.
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่


    วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างอยู่กลางใจเมือง ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 - 1945  ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่ "พระเจ้ากือนา" พระราชบิดา และมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่เรียกว่า "กู่หลวง" ซึ่งแรกเริ่มสร้างเป็นเจดีย์เล็กๆ ต่อมามีการบูรณะใหม่ โดยขยายฐานให้กว้างออก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่มุขด้านตะวันออกของพระเจดีย์เป็นเวลานานถึง 80 ปี แต่ในปี พ.ศ.2088 มีฝนตกหนัก และเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เป็นสาเหตุให้ส่วนยอดของพระเจดีย์หักพังเหลือเพียงครึ่งองค์ เกิดรอยร้าวที่องค์พระเจดีย์ ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงถูกทิ้งร้างมานานถึง 445 ปี ปัจจุบันพระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2533 


    วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ "ราชกุฏาคาร" หรือ "วัดโชติการาม" แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว มีความงดงาม สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากภาษาคำเมือง "หลวง" แปลว่า “ใหญ่” ซึ่งหมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่



[attach=1]

พระเจดีย์หลวง



    สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระวิหารหลวง ซึ่งถูกสร้างครั้งแรกโดยพระนางติโลกจุฑา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกน เมื่อปี พ.ศ.1954 ต่อมาได้มีการบูรณะและสร้างใหม่อีกหลายครั้ง พระวิหารหลวงที่เห็นในปัจจุบัน เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อย ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิม และได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ ภายในพระวิหารหลวงมี "พระอัฎฐารส" เป็นพระประธาน หล่อด้วยทองสำริด ปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก ซึ่งพระนางติโลกจุฑาโปรดฯ ให้หล่อขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1954 และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงใช้วิหารวัดเจดีย์หลวงนี้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจาแทนการทำพิธีที่วิหารวัดเชียงมั่น



[attach=2]

พระวิหารหลวง



[attach=3]

"พระอัฎฐารส" พระประธานในพระวิหารหลวง




    นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดอีกอย่างหนึ่ง คือ เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขีล พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 ในราชวงศ์ทิพจักร โปรดให้ย้ายเสาอินทขีลจากวัดสะดือเมือง มาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ.2343 ซึ่งเสาอินทขีลนี้เป็นเสาหลักเมืองที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะและนับถือ เชื่อว่าเป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต จึงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ และในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะมีการจัดงานประเพณีสักการะบูชาเสาหลักเมืองขึ้นเป็นประจำทุกปี เรียกว่า งานประเพณีใส่ขันดอก บูชาเสาอิทขีล โดยงานดังกล่าวได้อัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่า อันเป็นพระพุทธรูปที่บันดาลให้ฝนตกมาเป็นประธานในขบวนแห่และมีการสวดคาถาอินทขีลของหมู่สงฆ์ด้วย ซึ่งชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงต่างพากันนำข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอมมาบูชาเสาอินทขีลและพระพุทธรูปฝนแสนห่ากันอย่างเนืองแน่นทุกปี



[attach=4]

หออินทขิล ศาลหลักเมืองเชียงใหม่



[attach=5]

งานประเพณีใส่ขันดอก บูชาเสาอิทขีล ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี




พิกัด วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่: 18.786997, 98.988045

http://maps.google.co.th/maps?um=1&hl=th&client=firefox-a&rls=org.mozilla:th:official&biw=1280&bih=631&q=18.786997, 98.988045 (http://maps.google.co.th/maps?um=1&hl=th&client=firefox-a&rls=org.mozilla:th:official&biw=1280&bih=631&q=18.786997, 98.988045)



www.facebook.com/soupvan




ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/custom8.html
http://www.thaiticketmajor.com (http://www.thaiticketmajor.com)
http://www.oknation.net (http://www.oknation.net)
http://www.paiduaykan.com/province/north/chiangmai/watchediluang.html (http://www.paiduaykan.com/province/north/chiangmai/watchediluang.html)